ราชาธิปไตยเดือนกรกฎาคม (ค.ศ. 1830 – 1848) ของ ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส

พระเจ้าหลุยส์-ฟิลิป

พระเจ้าหลุยส์-ฟิลิปทรงดำรงพระยศเป็นกษัตริย์ของชาวฝรั่งเศส (King of the French) ไม่ใช่กษัตริย์แห่งฝรั่งเศส (King of France) ทรงเป็นกษัตริย์ที่สมถะไม่ฟุ่มเฟือยและทรงรักเสรีภาพ ทำให้ทรงได้รับสมญานามว่ากษัตริย์ประชาชน (The Citizen King) การปกครองของฝรั่งเศสเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ดำรงอยู่ได้ 18 ปี เรียกว่า ราชาธิปไตยเดือนกรกฎาคม (July Monarchy) เพราะมาจากการปฏิวัติกรกฎาคม

ในช่วงแรกของราชาธิปไตยเดือนกรกฎาคม พระเจ้าหลุยส์-ฟิลิปทรงเป็นที่รักของปวงชนอย่างมาก และทรงไม่เหมือนกับพระราชวงศ์พระองค์ก่อนๆ คือทรงสมาคมแต่กับกลุ่มพ่อค้านายธนาคาร กลุ่มชนชั้นกลาง (Bourgeoisie) ทำให้ตำแหน่งประธานสภาในสมัยนี้มาจากชนชั้นกลางทั้งสิ้น กฎบัตร ค.ศ. 1830 เป็นธรรมนูญของพระองค์ ซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยและเสรีมากกว่าเดิมและพระราชอำนาจก็ถูกริดรอนลงไปมาก ในสมัยนี้ยังเกิดกลุ่มดอกตริแนร์ (Doctrinaire) คือ ฝ่ายที่ประนีประนอมระหว่างฝ่ายราชาธิปไตยและฝ่ายสาธารณรัฐให้สามารถอยู่ร่วมกันได้

แต่ในสมัยราชาธิปไตยเดือนกรกฎาคมเกิดความขัดแย้งทางกาเรเมืองขึ้น เนื่องจากรัฐบาลอันประกอบด้วยกลุ่มดอกตริแนร์และกลุ่มออร์เลอองนิสต์ (Orléanist) พยายามจะดำเนินนโยบายที่เป็นกลาง ทำให้ทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายเสรีนิยมต่างไม่นิยมรัฐบาลนี้ ประธานสภาแม้จะมาจากชนชั้นกลางแต่มีความนโยบายแบบอนุรักษ์นิยม ใน ค.ศ. 1831 กาสิมี เปอรีเอร์ (Casimir Perier) สั่งปิดสมาคมการเมืองและสหภาพแรงงานต่างๆ ทำให้ฝ่ายเสรีนิยมก่อกบฏกานู (Canut revolts) ในเมืองลียง ฝ่ายอนุรักษ์นิยมประกอบด้วยฝ่ายราชวงศ์บูร์บงสายสิทธิโดยชอบธรรม หรือกลุ่มเลฌิติมิสต์ ก่อการกบฏต่อต้านรัฐบาลในค.ศ. 1832 นำโดยดัชเชสแห่งแบรี

ในกลุ่มดอกตริแนร์เองก็แบ่งเป็นสองฝ่าย ได้แก่ พรรคเคลื่อนไหว (Parti du Movement) คือ ฝ่ายเสรีที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวเรียกร้องเสรีภาพ นำโดยอดอล์ฟ ตีแยร์ (Adolph Thiers) และพรรคต่อต้าน (Parti de la résistance) คือ ฝ่ายอนุรักษนิยมที่ต่อต้านการเคลื่อนไหวเรียกร้องเสรีภาพ นำโดย ฟรองซัว กิโซต์ (François Guizot) กาสิมี แปริแอร์ และเคานต์ โมเล (Comte Molé)

ในระยะหลังของสมัยราชาธิปไตยเดือนกรกฎาคม กลุ่มพรรคต่อต้านมีอำนาจมากและได้ครอบครองตำแหน่งประธานสภา พรรคต่อต้านปิดสมาคมต่างๆเพื่อยับยั้งการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายและกีดกันให้ออกจากสภา และยังออกกฎหมายช่วยเหลือชนชั้นกลางให้ได้ประโยชน์จากการจ้างแรงงาน ซึ่งแรงงานชนชั้นล่างนั้นสามารถออกมาเรียกร้องการถูกเอารับเอาเปรียบได้เกรงว่าจะถูกข้อหากบฏ ฝรั่งเศสเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ทำให้เกิดชนชั้นแรงงานขึ้นเป็นครั้งแรกในฝรั่งเศส ชีวิตชาวฝรั่งเศสชนชั้นแรงงานน่าเวทนาอย่างมาก ประชาชนยากจนและเกิดการว่างงาน เกิดความเลื่อมล้ำทางสังคมอย่างแรงระหว่างชนชั้นกลางที่ร่ำรวยกับแรงงานที่ยากจน

ในค.ศ. 1840 นายกีโซต์เป็นประธานสภา แม้หลายฝ่ายจะพยายามเสนอให้มีการปฏิรูปการปกครองแก้ไขภาวะเสื่อมโทรมทางสังคมและเศรษฐกิจ แต่กีโซต์ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงใดๆ ในสมัยราชาธิปไตยเดือนกรกฎาคม สิทธิ์การเลือกตั้งนั้นเป็นของผู้ร่ำรวย ที่สามารถจ่ายภาษีตามเกณฑ์ให้รัฐได้ อันเป็นการรักษาอำนาจของชนชั้นกลางตอนบน (Haute Bourgeoisie) เพราะชนชั้นกลางเท่านั้นที่มีสิทธิ์เลือกตั้งเพราะมีเงิน ชนชั้นล่างไม่มีสิทธิ์ มีความพยายามหลายครั้งที่จะแก้ไขสิทธิ์การเลือกตั้ง แต่กีโซต์ก็ตอบกลับด้วยคำพูดว่า ก็ทำตัวเองให้รวยสิ (Enrichissez-vous)

ในค.ศ. 1846 เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงราคาอาหารสูงขึ้น เกิดการก่อจลาจลทั่วประเทศในค.ศ. 1847 ในค.ศ. 1848 มีการนัดพบกันตามเมืองใหญ่เพื่อหารือเพื่อยกเลิกการปกครองเก่า เรียกว่า Campaigne des banquets แม้กีโซต์จะลาออก และพระเจ้าหลุยส์-ฟิลิปจะทรงสละราชสมบัติให้พระราชโอรส แต่สภาวการณ์บานปลายเกิดกว่าจะแก้ไข ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1848 ฝรั่งเศสประกาศตั้งสาธารณรัฐที่สอง (Second Republic)

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย